วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

ศึกษาเกี่ยวกับสัดส่วนและโครงสร้างของตัวอักษร





“ฟอนต์ไทยตัวเล็กกว่าฟอนต์อังกฤษ” เป็นคำพูดเหมารวมจนเป็นความเชื่อสาธารณะที่หลายคนคงเคยได้ยิน
โดยสามัญสำนึกของคนไทยที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับตัวอักษร เรารู้ว่าค่าปริยาย (default) ของฟอนต์ภาษาอังกฤษอยู่ที่ 12 point (pt) แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ฟอนต์ภาษาไทย เราพบว่าในขนาดเป็นพอยนท์ (point size) ที่เท่ากัน คำภาษาอังกฤษคำเดียวกัน ตัวอักษรโรมันจะออกมามีขนาดทางกายภาพเล็กกว่า ทั้งนี้เกิดจากความแตกต่างในเรื่องการวัดขนาดตัวอักษร ซึ่งภาษาไทยจะต้องวัดความสูงจากเส้นกรอบบน (ขอบเขตสูงสุดของชั้นวรรณยุกต์บน) จนถึงเส้นกรอบล่าง (ขอบเขตต่ำสุดของชั้นสระล่าง) ในขณะที่ตัวโรมันวัดจาก ascent line (ขอบเขตสูงสุดของตัวพิมพ์ใหญ่) ถึง descent line (ขอบเขตต่ำสุดของ descender) ดังนั้น ในหน่วยวัดที่เท่ากัน (เช่น 12 pt เท่ากัน) ตัวอักษรไทยย่อมเล็กกว่าตัวโรมัน เพราะต้องมีพื้นที่ให้ใส่สระบน, สระล่าง และวรรณยุกต์ รวมอยู่ด้วย
boongkee1.png
tomorrow-450x3091.png
ภาพประกอบทั้งสองภาพด้านบน มาจากหนังสือ ในหนังสือ “แบบตัวพิมพ์ไทย” จัดทำโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สังเกตว่า ทั้งสองภาพใช้คำศัพท์เรียกเส้นระยะต่างๆ ไม่เหมือนกัน
ดังนั้น ค่าปริยายที่ 12 pt จึงดูเล็กเกินไปสำหรับหลายคน ทำให้เมื่อใดก็ตามที่เริ่มพิมพ์เอกสาร หลังจากเลือกฟอนต์ยอดนิยมแห่งชาติ เช่น Angsana แล้ว ต้องเพิ่มขนาดเป็น 14 pt (หรือขนาดอื่น) ไปโดยอัตโนมัติ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า “เห็นไหมล่ะ ฟอนต์ไทยต้องใช้ตัวใหญ่กว่าฟอนต์อังกฤษ เพิ่มขนาดไป 2 pt แน่ะ” ใช่ไหม? – อย่าเพิ่งด่วนสรุป ลองมาพิจารณาขนาดทางกายภาพกันบ้าง
จากหนังสือเล่มเดิม มีการเสนอแนะแนวทางของการกำหนดขนาดตัวโรมันในฟอนต์ไทยไว้ดังภาพ จะเห็นว่า เมื่อต้องการใช้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษร่วมกัน สัดส่วนของตัวโรมันที่ตำราเล่มนี้แนะนำคือ พยัญชนะไทยจะมีความสูงอยู่ระหว่างตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็กของโรมัน ซึ่งเชื่อว่า “สัดส่วนที่แนะนำ” และมีตัวเลขกำกับชัดเจนนี้เกิดจากการสะสมประสบการณ์และลองผิดลองถูกมาพอสมควร ก่อนจะได้ข้อสรุปดังนี้
boobeeheg-450x1961.png
โดยส่วนตัวเชื่อว่าสัดส่วนที่แนะนำนี้ไม่น่าจะนำมายึดถือได้เป็นสูตรสำเร็จตายตัวชนิดที่วัดเป็นหน่วยได้ เพราะแบบตัวพิมพ์โรมันแต่ละชุดยังมีสัดส่วน x-height กับ capital height ที่ไม่เท่ากันเลย แต่พอจะใช้เป็นหลักเกณฑ์คร่าวๆ ได้เหมือนกันว่าภาษาไทยตัวใหญ่กว่า
ถ้ามองในแง่ที่ว่า เพราะลักษณะรูปร่างของตัวอักษรไทยและลาวที่มีความซับซ้อนกว่าตัวพิมพ์โรมัน ทำให้ต้องใช้ขนาดที่ใหญ่กว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในการอ่านก็สมเหตุสมผล (เชื่อว่าสำคัญกว่าการหลีกเลี่ยง “หัวตัน” จากการพิมพ์) สำหรับงานที่จบบนหน้าจอก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ว่าการแยกแยะพยัญชนะคู่สับสน เช่น “ช” กับ “ซ” หรือ “ฏ” กับ “ฎ” ด้วยสายตา ที่ขนาดการใช้งานจริงนั้นยากจริงๆ จนต้องอาศัยความเคยชินในการจดจำตัวอักษรอื่นที่ห้อมล้อมและการจดจำคำมาช่วยแยกแยะ

ขอขอบคุณเว็บที่ให้การศึกษาหาข้อมูล




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น